อำนาจและหน้าที่
สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติที่ประชุม สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 และประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 93 ง หน้า 21 ลงวันที่ 21 เมษายน 2566) ให้มีการปรับปรุงการจัดตั้งส่วนงาน โดยให้ควบรวมสถาบันวิจัยสังคมเข้ากับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยพหุศาสตร์” (Multidisciplinary Research Institute : MDRI) มีสถานะเป็นส่วนงานวิชาการ มีรูปแบบการบริหารหน่วยงานภายในแบบแพลตฟอร์ม โดยมีความยืดหยุ่นของ กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ การกับดูแล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมหรือภารกิจรูปแบบใหม่ โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางที่ขับเคลื่อนงานวิจัยพหุและสหสาขาเชิงนวัตกรรม ที่เปิดโอกาสให้ทุกส่วนงานและนักวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะโครงการบูรณาการ โดยสถาบันฯ มีพันธกิจ/หน้าที่ ดังนี้
- ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและบริการวิชาการเชิงพหุและสหวิทยาการในรูปแบบ แพลตฟอร์ม และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ
- สร้างนักวิจัยด้านพหุศาสตร์เพื่อตอบสนองภารกิจด้านพหุและสหวิทยาการ
- สร้างผลงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันฯ มีการดำเนินงานเชิงรุกด้านการวิจัย ที่เป็นแพลตฟอร์มการวิจัย 4 แพลตฟอร์ม คือ 1. Climate Actions and PM2.5 (CA) 2. Novel Food, Health and Beauty (FH) 3. Novel Tourism and Creative Economy (NT) และ 4. Social Engagement (SE) โดยมีหน่วยวิจัยในเครือข่ายที่มีคณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันฯ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่อยู่ในส่วนงานที่เป็นพันธมิตรของสถาบัน ฯ ภายใต้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการด้านงานวิจัย ซึ่งการขับเคลื่อนงานวิจัยจะเป็นลักษณะของหน่วยวิจัยในเครือข่ายที่มีคณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันฯ เป็นบุคลากรในหน่วยวิจัยเครือข่ายดังกล่าว และมีสำนักงานสถาบันฯ ทำหน้าที่สนับสนุนและบริหารงานกลาง ในปัจจุบันมีหน่วยวิจัยในเครือข่าย จำนวน 11 หน่วยวิจัย ศูนย์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จำนวน 4 ด้าน ศูนย์ความเป็นเลิศ จำนวน 4 ศูนย์ และศูนย์วิจัยนานาชาติ จำนวน 1 ศูนย์