สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สงกรานต์ vision
Research Platform

สถาบันวิจัยพหุศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Multidisciplinary Research Institute,
Chiang Mai University






ข่าวประชาสัมพันธ์




บทความวิจัยน่ารู้

"ผักกูด" รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักกันดีไหม

  หลังจากที่แนะนำผักกูด หรือ กูดกิน ไปบ้างแล้วว่า ผักกูดสามารถพบได้ที่ไหน มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไรและนำไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง คราวนี้ควรมาทำความรู้จักผักกูดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่าจริงแล้วผักกูดมีลักษณะรูปร่างหน้าตาอย่างไร แล้วจะขยายพันธุ์แบบไหนได้บ้าง   ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับชื่อและสกุลของผักกูดกันดีไหม ผักกูดหรือ กูดกิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diplazium esculentum (Retz.) Swartz. อยู่ในวงค์ Athyriaceae และมีชื่อที่ใช้เรียกในต่างประเทศว่า Small Vegetable fern และความจริงแล้วผักกูดไม่ได้เป็นพืชผัก แต่ผักกูดจัดเป็นเฟินชนิดหนึ่งที่กินได้ มีลำต้นเป็นเหง้า (Rhizomes) แบบตั้งตรง ในประเทศไทยความสูงของต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่อาจสูงถึง 1 เมตร ก้านใบและใบปกคลุมด้วยเกล็ดสีน้ำตาลดำ ก้านใบมีสีออกดำ ใบมีสีเขียวอ่อนเมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม ขอบใบหยักฟันเลื่อย โดยใบจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามอายุของต้น ต้นที่อายุน้อยมักพบใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ขณะที่ต้นที่อายุมากสามารถพบใบประกอบแบบขนนกสองชั้นได้ ด้วยเหตุนี้ผักกูดจึงพบว่ามีทั้งใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวและสองชั้น   หากถามว่า ส่วนไหนของผักกูดที่นำไปปรุงอาหารได้ คำตอบก็คือ ส่วนของฟรอนด์ แล้วฟรอนด์คืออะไร ฟรอนด์ (Frond) คือก้านใบใหม่ที่โผล่จากลำต้น มีส่วนปลายม้วนงอ และส่วนปลายจะค่อยพัฒนาไปเป็นใบอ่อน และใบแก่ตามลำดับ ดังนั้นตามตลาดจึงพบเฉพาะฟรอนด์อ่อนๆของผักกูดวางจำหน่าย การเกิดซอไรของผักกูด   สำหรับการขยายพันธุ์ของผักกูด เนื่องจากผักกูดเป็นเฟินจึงสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งสปอร์จากซอไร (Sori) และการแยกเหง้า คำถามที่ตามมาแน่นอนว่า ซอไรคืออะไร ซอไรคือกลุ่มของอัปสปอร์ที่เฟินสร้างขึ้นเพื่อขยายพันธุ์ ซอไรของผักกูดจะเกิดหลังใบตามแนวเส้นใบเกิดขึ้นเกือบตลอดความยาวของเส้นใบย่อย ซอไรเมื่อยังอ่อนจะมีสีขาวพอแก่จะมีสีน้าตาล หรือดำ เมื่อแก่จะแตกฟูและปล่อยสปอร์ออกมา สปอร์ที่ปล่อยออกมาก็จะปลิวตามลมเพราะมีน้ำหนักเบา เมื่อสปอร์ตกลงสู่ดินและสภาพ แวดล้อมเหมาะสมเช่น มีความชื้น ก็เกิดต้นอ่อนขึ้นมาพร้อมที่จะเจริญเติบโตต่อไป ต้นอ่อนยังสามารถจะเกิดได้อีกทางหนึ่งคือ การเกิดตาราก แล้วตารากมีการพัฒนาเป็นต้นอ่อนเล็กๆซึ่งมักพบการเกิดต้นอ่อนบริเวณรอบลำต้น นอกจากนี้ยังสามารถแยกต้นใหม่ออกจากเหง้าของผักกูดที่รวมอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง   เมื่อทราบข้อมูลข้างต้น การทำความรู้จักกับผักกูดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินความสามารถของคนทั่วไป ดังนั้นการรู้จักรูปร่างหน้าตาและการขยายพันธุ์ของผักกูดจึงมีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บผักกูดมาใช้ประโยชน์ด้านการประกอบอาหารและการปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ฟรอนด์ของผักกูด ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวและใบประกอบแบบขนนกสองชั้น บทความวิจัยน่ารู้

รางจืด

รางจืด เป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักกันดีในสรรพคุณใช้เเก้พิษและ ล้างพิษ แต่รางจืดก็มีส่วนละเอียดปลีกย่อยที่ควรรู้อีกมาก ในประเทศไทยมีพืชที่เรียกว่า ราจืด อยู่ 3 ชนิด ซึ่มีลักษณะขอต้นที่แตกต่างกัน ได้แก่ รางจืดเถา มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และพม่า สำหรับประเทศไทยนั้นพบตามป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นทั่วไป รางจืดชนิดนี้มีสรรพคุณในการกำจัดพิษ ไม่ว่าจะเป็นพิษจากพืช พิษจากสัตว์และพิษจากสารเคมี ดังนั้นจึงมีผู้นิยมนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน รางจืดเถายัแบ่งได้อีกโดยมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ รางจืดดอกสีม่วงหรือสีคราม รางจืดดอกสีขาว และรางจืดดอกสีเหลือง อย่างไรก็ตามรางจืดดอกสีม่วงนิยมปลูกกันมากที่สุดด้วยเพราะมีสรรพคุณทางยาดีที่สุด ภาพที่ 1. ลักษณะของต้นรางจืดเถา รางจืดต้น เป็นพืชล้มลุกมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้าน แขนงเป็นทรงพุ่ม มีดอกและฝักคล้ายดอกและฝักของถั่ว ดอกมีสีเหลือง นิยมนำใบและรากมาทำยา ด้วยเชื่อว่ารากสามารถแก้คุณไสย ยาพิษและยาสั่ง (ภาพที่ 2) ภาพที่ 2. ลักษณะต้นของรางจืดต้น ว่านรางจืด เป็นรางจืดที่ตำรายาจัดไว้ในกลุ่มว่าน ลำต้นเป็นหัวใต้ดิน เนื้อหัวมีขาว มีกลิ่นหอม สามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีลักษณะคล้ายกอขมิ้น นิยมนำหัวว่านมาทำยาสมุนไพรและเชื่อว่าสามารถแก้คุณไสย ยาสั่งและขับสารพิษเหมือนกับรางจืดต้น (ภาพที่ 3) ภาพที่ 3. ลักษณะต้นของต้นว่านรางจืด อย่างไรก็ตามรางจืดที่รู้จักกันดี คือ รางจืดเถาที่มีชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษว่า laurel clock, blue trumpet vine, laurel-leaved thunbergia เป็นพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Lindl. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae พืชชนิดนี้มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีเถาสีเขียวอมน้ำตาลค่อนข้างกลมโดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และมีความยาวมากกว่า 10 เมตร เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีใบแทงออกเป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของลำต้น มีก้านใบยาวถึง 2-4 เซนติเมตร ใบเป็นรูปหัวใจแหลม โคนใบมน กว้าง ใบกว้างตรงกลางโคนใบอาจเว้าหรือไม่เว้า ปลายใบแหลมและมีติ่งแหลมที่ปลายขอบใบเรียบ ใบกว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ใบขนาดใหญ่จะอยู่ที่โคนเถา และค่อยๆ ลดขนาดลงตามความยาวของเถา ใบด้านบนมีสีเข้มและไม่มีขนและส่วนใต้ใบมีสีอ่อนกว่าและไม่มีขน เส้นใบยาวจากโคนใบถึงปลายใบมี 3 เส้น อยู่ที่กลางใบ 1 เส้น อีก 2 เส้นอยู่ริมใบทั้งองข้าง รางจืดจออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ดอกรางจืดออกเป็นช่อบริเวณซอกดอก ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอ่อน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปฐาน เมื่อดอกที่บานแล้วมีขนาดประมาณ 5-10 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ผลของรางจืดมีรูปทรงกลมเป็นหลอด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลมและโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมดำ ฝักแก่ที่แห้งเต็มที่จะปริออกเป็น 2 ซีก
บทความวิจัยน่ารู้

สิ่งที่ควรรู้ก่อนจะเพาะเห็ดถั่งเช่าเป็นอาชีพ

เห็ดถั่งเช่าเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการที่เชื้อราเจริญบนซากหนอนแมลง ในธรรมชาติของเชื้อเห็ดถั่งเช่านั้น มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งถั่งเช่าจากทิเบตที่ถือว่าเป็นถั่งเช่าแท้ๆที่มีชื่อเสียงด้านสรรพคุณ ก็ยังมีคุณภาพและแบ่งเกรดต่างๆกัน ส่วนเห็ดถั่งเช่าสีทอง เกิดจากการเพาะเลี้ยงและคัดเลือกสายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ โดย เห็ดถั่งเช่าสีทอง เป็นเห็ดตระกูลเดียวกับเห็ดถั่งเช่าทิเบต แต่ต่างเหล่าพันธุ์(Species) ซึ่งเป็นคนละชนิดกับเห็ดถั่งเช่าแท้ เพราะถั่งเช่าแท้ยังไม่สามารถเพาะให้มีคุณสมบัติแบบธรรมชาติได้ ราคาจำหน่ายถั่งเช่าแท้ จึงมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละหนึ่งล้านบาทขึ้นไป สำหรับหลักสูตรที่ฝึกอบรมการเพาะเห็ดถั่งเช่าที่เปิดกันทั่วไปจึงเป็นการเพาะเห็ดถั่งเช่าสีทอง ปัจจุบันสายพันธุ์ที่มีการทำวิจัยและศึกษาสรรพคุณมาแล้วและเป็นที่ต้องการในท้องตลาดคือ Cordyceps sinensis (cs-4) เนื่องจากสรรพคุณของเห็ดถั่งเช่า ไม่ว่าจะเป็นถั่งเช่าทิเบตแท้ หรือถั่งเช่าสีทอง ที่มีอยู่มากมาย เช่น ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง เพิ่มภูมิต้านทานโรคทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ชะลอความแก่ชราและความเสื่อมของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับคลอเรสเตอรอล และรักษาสมดุลของคลอเรสเตอรอลในหลอดเลือด ช่วยในด้านอารมณ์ ระงับประสาท ทำให้จิตใจสงบผ่อนคลาย ช่วยเพิ่มความจำ ป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ และจากงานวิจัยพบว่าถั่งเช่าช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีอาการดีขึ้นมากถึง 51% หลังจากบริโภคถั่งเช่า 1 เดือน นอกจากนี้สรรพคุณที่เป็นที่สนใจกันมากก็คือบำรุงและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งได้มีรายงานวิจัยจากต่างประเทศในสัตว์ทดลองและมนุษย์มาแล้ว จึงทำให้มีผู้สนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มที่เป็นผู้รักสุขภาพ จากความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งราคาจำหน่ายที่สูงมากของเห็ดชนิดนี้ ทำให้มีผู้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมการเพาะเห็ดถั่งเช่ากันมากมายหลายที่ และมีวิธีการเพาะที่แตกต่างกันออกไป และมีผู้สนใจจำนวนมากที่ยอมเสียเงินเข้าไปรับการฝึกอบรม โดยคาดหวังว่าจะนำมาประกอบเป็นอาชีพ แต่ผู้ที่คิดจะเพาะเป็นอาชีพควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ให้มาก ในเรื่องของการลงทุน เพราะเห็ดชนิดนี้ต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตค่อนข้างจำเพาะ ลักษณะโรงเรือนหรือตู้เพาะเห็ดต้องปรับอุณหภูมิเฉลี่ยขั้นต่ำ 25 องศาเซลเซียส จึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้สถานที่ซึ่งใช้เพาะเห็ดและอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ สามารถควบคุมกระบวนการเพาะได้เกือบ 100% และสิ่งสำคัญที่สุดคือตลาดรับซื้อที่จะนำไปแปรรูปทำเป็นอาหารเสริม ซึ่งผู้เพาะควรคำนึงถึงว่าผลผลิตที่เพาะออกมาได้นั้นใช่ว่าจะจำหน่ายกันได้ง่ายๆ เพราะจะต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มา กระบวนการผลิต และการตรวจสอบคุณภาพของเห็ดด้านสารองค์ประกอบที่มีสรรพคุณทางยา ที่กว่าจะผ่านกระบวนการเหล่านี้ได้ ต้องใช้เวลามากพอสมควร ซึ่งคาดว่าผู้เพาะรายใหม่ๆคงไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตเหล่านี้ได้ สำหรับผู้ที่สนใจจะเพาะเห็ดถั่งเช่าเป็นอาชีพ ควรจะต้องพิจารณาให้ดี เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่ใช่สำหรับเป็นอาหารทั่วๆไป เพราะส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้เป็นอาหารเสริมสุขภาพ แม้ว่าราคาจำหน่ายของเห็ดชนิดนี้จะมีราคาแพงแต่ก็ใช่ว่าจะมีตลาดรองรับซื้อทั้งหมด เพราะผู้ซื้อก็ย่อมจะต้องเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานที่มีการควบคุมคุณภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผลิตออกมาเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องการบริโภค จำเป็นต้องได้รับมาตรฐาน อย. ของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สรุปก็คือ การเพาะเห็ดถั่งเช่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสามารถเรียนรู้ได้ แต่สิ่งที่ยากกว่าและต้องคำนึงถึงให้มากๆก่อนจะเพาะเป็นอาชีพคือการตลาดและแหล่งรับซื้อ
บทความวิจัยน่ารู้

สปิเนลสีแดง พลอยที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า

ภาพที่ 1. แสดงทับทิมธรรมชาติ ทับทิมสังเคราะห์ และพลอยที่มีลักษณะคล้ายทับทิม หากถามว่า พลอยชนิดใดที่เหมือนพลอยทับทิม (ruby) มากที่สุด คำตอบก็คือ "สปิเนลสีแดง (red spinel)" พลอยชนิดนี้ มักทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิด และซื้อในราคาของทับทิม เพราะมีความคล้ายคลึงกันมาก จนยากที่จะแยกแยะด้วยตาเปล่า แท้จริงแล้วทับทิมที่มีชื่อเสียงของโลกหลายเม็ด เป็นสปิเนลสีแดง อาทิเช่น ทับทิมเจ้าชายดำ (Black Princes Ruby) ขนาด 170 กะรัต (ขนาดประมาณไข่ไก่) ประดับอยู่ที่มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่ง-สหราชอาณาจักร และทับทิมติเมอร์ (Timur Ruby) ขนาด 352 กะรัต ประดับอยู่ที่สร้อยพระศอ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ในสมัยโบราณ รัตนชาติส่วนใหญ่ที่มีสีแดงชาด จะถูกเรียกว่า "ทับทิม" กระทั่งปัจจุบันสปิเนล ยังคงไม่มีชื่อเฉพาะในภาษาไทย พ่อค้าพลอยรู้จักในชื่อของ "พลอยสีแดงเนื้ออ่อน" มีสูตรทางเคมีเป็น MgAl2O4 (อัตราส่วนของ Al2O3 ต่อ MgO ประมาณ 72 : 28) การเกิดสีของสปิเนลเกิดจากธาตุร่องรอย เช่น เหล็ก ไทเทเนียม และโครเมียม เหมือนกับพลอยประเภทคอรันดัม ที่มีสูตรเคมีเป็น Al2O3 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสับสนกับพลอยทับทิมซึ่งเกิดจากแร่คอรันดัม เนื่องจากมีสีที่คล้ายกัน และสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในพลอยก็คล้ายกัน จนกระทั่งในปัจจุบันจึงสามารถแยกทับทิมและสปิเนลได้ โดยใช้คุณสมบัติของความแข็ง และความหนาแน่น ซึ่งทับทิมนั้นจะมีความแข็งกว่าเล็กน้อย (ทับทิมมีความแข็ง 9 สปิเนลมีความแข็ง 8 ในหน่วยโมล์สเกล) และมีความหนาแน่นสูงกว่าสปิเนล (ทับทิมมีความหนาแน่น 4.0 สปิเนลมีความหนาแน่น 3.6 ในหน่วยกรัมต่อลูกบาสก์เซ็นติเมตร) ในอดีต สปิเนลถือเป็นพลอยที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่สูงนัก เพราะไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งมีกระแสความนิยมชมชอบทับทิมและแซฟไฟร์มากกว่า แต่เมื่อไม่นานนี้ มูลค่าของสปิเนลเพิ่มสูงมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะความต้องการซื้อมีสูงขึ้น โดยเฉพาะสีแดงสดซึ่งหายาก ปัจจุบันมีมูลค่าสูงมากจนเทียบเท่าทับทิม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นทางของสายการผลิต สปิเนลที่ผลิตจากเหมืองที่เป็นสีแดงสดมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นสีไม่สด โดยมีสีอื่นเจือปนอยู่ เช่น สีแดงแกมส้ม สีแดงแกมน้ำตาล สีแดงแกมม่วง สีชมพูแกมม่วง เป็นต้น สปิเนลกลุ่มสีดังกล่าว จะมีมูลค่าทางการตลาดต่ำกว่าสปิเนลสีแดงสดมาก การนำสปิเนลกลุ่มดังกล่าวมาปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้เนื้อสะอาดและมีสีที่แดงเข้มสด จนสามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ปัจจุบัน ผู้ค้าอัญมณีที่มีเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพ จึงเริ่มที่จะให้ความสนใจ และทดลองเพิ่มคุณภาพสปิเนล แต่ธรรมชาติของสปิเนลมักจะมีริ้วรอยตำหนิหรือรอยแตกร้าวค่อนข้างมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ความร้อนโดยตรง จึงไม่พบว่ามีเอกสารใดที่ระบุว่ามีการเพิ่มคุณภาพสปิเนลเป็นผลสำเร็จ จนสามารถพัฒนาไปสู่กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ หน่วยวิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยสปิเนลสีแดงอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยการวิเคราะห์เพื่อดูโครงสร้าง และมลทิน การศึกษาคุณสมบัติการเปล่งแสงของสปิเนล และการทดลองปรับปรุงคุณภาพด้วยลำไอออน ซึ่งจะรายงานความก้าวหน้าของโครงการนี้เป็นระยะๆ ภาพที่ 2. ภาพถ่ายโดยนางสาวบุษบากร ศรีสถาพร แสดงให้เห็น micro-inclusions (ซ้าย) และ healed fractures (ขวา) ซึ่งทำให้พลอยดูไม่ใสสะอาดเหมือนทับทิม และทำให้ไม่สามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีเผาแบบดั้งเดิมได้ เพราะมีส่วนทำให้พลอยแตก
บทความวิจัยน่ารู้

MDRI LIFELONG